การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระเพาะ

โรคกระเพาะกับยารักษา
ในการรักษาเบื้องต้นของโรคกระเพาะ จะพบว่าแพทย์จะรักาตามอาการพร้อมให้ยา โดยยาที่รักษาสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร และยากระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหาร โดยยาลดกรดในกระเพาะอาหารแพทย์จะนิยมให้ใช้หากมีแผลในกระเพาะและให้ทานต่อเนื่องเป็นเวลา 6 – 8 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย โดยจะต้องส่งกล้องดูเพื่อวินิจฉัยเท่านั้น ผู้ป่วยที่ไม่พบอาการเหล่านี้ แพทย์จะรักษาด้วยวิธีอื่น โดยจะแนะนำให้ทานยาลดกรดต่อเมื่อมีอาการผิดปกติ ส่วนยาประเภทอื่นๆ อาทิ ยาขับลม ก็แนะนำว่าให้กินเฉพาะตอนที่มีอาการแน่นท้องจากลมที่เกิดขึ้นมากในกระเพาะอาหาร โดยกินในเวลาที่มีอาการได้ตามต้องการ

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระเพาะ
1. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา เพราะนี่คือสาเหตุแรกๆ เลย ที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะ และคนส่วนใหญ่มักจะไม่มีเวลาทานอาหารหรืองดไปบางมื้อ ทั้งนี้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารให้ดีขึ้นด้วย

2. รับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด

3. หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาชุด ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาที่มีสเตียรอยด์ น้ำอัดลม อาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ช็อคโกแลต ชา กาแฟ เป็นต้น

4. งดสูบบุหรี่

5. อาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อไม่ควรมีปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้อง

6. ถ้าเครียดพยายามลดความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำสมาธิ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

7. หมั่นออกกำลังกาย เพื่อให้ระบบในร่างกายเราทำงานอย่างสมดุล

8. รับประทานยาลดกรด ยาน้ำ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ หรือยาเม็ด 1 – 2 เม็ด (เคี้ยวก่อนกลืน) วันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็นหลังอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน กรณีมีอาการปวดท้องก่อนเวลายาสามารถรับประทานเพิ่มได้และควรรับประทานยาติดต่อกันนานอย่างน้อย 4 – 8 สัปดาห์

9. ถ้าปฏิบัติตามนี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน

10. รับประทานยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ