ติดเค็ม ทำอย่างไรดี ส่งผลอะไรบ้าง

การชื่นชอบอาหารรสเค็มยังคงเป็นที่รักตัวคนไทย โดยจะเห็นได้ว่ารายการอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ โดยเฉพาะอาหารที่อยู่ตามร้านอาหารที่เราสั่งมาทานที่บ้าน หรือที่ร้าน แทบทุกจาน ทุกกล่องล้วนมีโซเดียมในปริมาณที่สูง ซึ่งโดยปกติแล้วเครื่องปรุงเกือบทุกชนิดก็ดันมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้น ในอาหารแต่ละมื้อที่ทานเข้าไปก็มีส่วนของโซเดียมอยู่แล้วด้วยเสมอ เนื่องด้วยเหตุผลที่กล่าวมาในเรื่องเครื่องปรุง และรวมเข้ากับนิสัย “ติดการปรุง” แบบรสจัด เค็มจัด หวานจัดเปรี้ยวจัด ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้ทุกๆ วัน คนเราเผลอบริโภคโซเดียมเข้าไปในปริมาณที่เกินพอดี และเป็นผลเสียคือกลายเป็นการสะสมแล้วส่งผลร้ายต่อร่างกาย

คราวนี้เรามาคิดกันดีกว่าค่ะ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะหยุดติดเค็มเลิกกินเค็มได้? หรือจะลองใช้เทคนิควิธีจาก  ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ซึ่งได้แนะนำ 6 วิธีห่างไกลจากการติดเค็ม ได้แก่

1.ควรชิมก่อนปรุงทุกครั้งว่ารสชาตินั้นพอเหมาะแล้วหรือไม่ หากรสชาติดีอยู่แล้วหรือค่อนข้างมีรสที่ดีก็เพียงพอแล้วไม่ควรเติมเพิ่ม เพราะรสชาติของอาหารทุกจานได้ผ่านการปรุงมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรสชาติของความเค็มหรือมีโซเดียมสูงอยู่แล้ว ถ้าหากเราไม่ชอบชิมแล้วปรุงเพิ่มเข้าไปเลยก็จะยิ่งทำให้ได้รับโซเดียมเข้าไปในร่างกายเพิ่มมากขึ้น

2.ลดการบริโภคอาหารแปรรูป อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า อาหารแปรรูปหรืออาหารสำเร็จรูปนั้นมีส่วนผสมของโซเดียมมากอยู่แล้ว ดังนั้น ควรลด แล้วหันมาทำอาหารรับประทานเองในแต่ละมื้อบ้าง โดยเน้นซื้อวัสถุดิบหรือใช้วัสถุดิบประเภทของสดมาทำกับข้าวเองปรุงเอง โดยปรุงให้น้อยที่สุดก็จะช่วยลดปริมาณโซเดียมลงไปได้

3.ลดการใช้น้ำจิ้ม เพราะน้ำจิ้มถือเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้คนไทยได้รับโซเดียมสูง และอีกหนึ่งนิสัยเสียของคนไทยคือ ชอบราดน้ำจิ้มเยอะๆ หรือจิ้มน้ำจิ้มมาก ๆ ซึ่งตัวอาหารบางอย่างก็มีโซเดียมอยู่แล้ว

4.ลดการกินน้ำซุปซดน้ำซุป เน้นรับประทานเฉพาะเส้นและเครื่องเคียง หลายๆ คน คงเคยชินกับการซดน้ำซุปด้วยความอร่อยของอาหาร หรือเป็นนิสัยที่ชอบการซดน้ำซุปร้อนๆ อยู่แล้ว ควรหยุดพฤติกรรมแบบนี้ เพราะหากคุณหยุดได้ คุณจะสามารถลดปริมาณโซเดียมที่จะได้รับในแต่ละวันลงไปได้ ซึ่งน้ำซุปมีการเติมซอสปรุงรส หรือผงปรุงรสลงไป ซึ่งถือว่ามีโซเดียมปริมาณสูงมาก

5.ลดการกินน้ำปรุง แม้ว่าอาหารนั้นจะอร่อยมากแค่ไหนก้ตาม เพราะมันจะช่วยลดโซเดียมลงได้อย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะอาหารประเภทยำ ส้มตำ ถือเป็นอาหารจานโปรดของคนไทยจำนวนมาก ซึ่งน้ำยำหรือน้ำส้มตำมีการเติมผงปรุงรสที่มีโซเดียมสูง

6.ลดความถี่ในการกินอาหารที่มีส่วนประกอบของไตปลา ปลาร้า พริกแกง และกะปิ อันเป็นเครื่องปรุงที่คนไทยชอบกิน ซึ่งวิธีในการทำอาหารทั้ง 4 อย่าง ทำให้มีโซเดียมผสมอยู่แล้ว และหากมีการปรุงรสเพิ่มเข้าไปอีก ก็ยิ่งได้โซเดียมจากสารปรุงรสเข้าไป