พาราเซตามอล กินอย่างไรถึงจะดี

“พาราเซตามอล” ยาสามัญประจำบ้านที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี หลายบ้านยังมีติดไว้เพื่อใช้ในการลดไข้และบรรเทาอาการปวดในชีวิตประจำวัน ถือเป็นยาที่เข้าถึงได้ง่ายและจัดเป็นยาที่ไม่อันตราย แต่ในขณะเดียวกัน หากมีการใช้ยาไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน จึงมีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาพาราเซตามอลที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อเป็นการให้ความรู้ต่อทุกคน นำไปสู่การใช้ยาที่เกิดประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย

ทำความรู้จักกับยาพาราเซตามอล

ยาพาราเซตามอล เป็นยาบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และบางครั้งยังใช้ลดไข้ในเด็กและผู้ใหญ่ จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน และเป็นยาที่ไม่อันตราย

กลไกการออกฤทธิ์ของยาพาราเซตามอล

ยาพาราเซตามอลออกฤทธิ์โดยการยับยั้งสารเคมีบางชนิดในสมองของมนุษย์ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด เช่น สารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) และจะชักนำให้เกิดกลไกการลดอุณหภูมิหรือลดไข้ของร่างกายลง

การใช้ยาพาราเซตามอล

  • ในการกินยา 1 ครั้ง ใช้ยาขนาด 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)
  • กินครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
  • ไม่ควรกินเกิน 8 เม็ดต่อวัน หรือ 4 กรัม/วัน
  • สามารถกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับบกพร่องหรือน้ำหนักตัวน้อย เนื่องจากอาจจำเป็นต้องปรับขนาดยา
  • เป็นยารักษาตามอาการ หากไม่มีอาการปวดหรือไม่มีไข้ ไม่จำเป็นต้องกินยา
  • กรณีลืมกินยา สามารถกินได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

ปัญหาที่พบจากการใช้ยาพาราเซตามอล

ใช้ยาพร่ำเพรื่อ

การกินยาพาราเซตามอลพร่ำเพรื่อติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ตับทำงานบกพร่อง โดยเฉพาะการกินยาร่วมกับแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการตับอักเสบมากขึ้น

ใช้ยาเกินขนาด

การกินยาพาราเซตามอลต่อครั้ง ระบุว่าต้องกินยาขนาด 1-2 เม็ด ถ้าหากกินมากเกิน 2 เม็ด ต้องดูที่น้ำหนักตัวของผู้ป่วยว่าสัมพันธ์กับขนาดยา 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หรือไม่ ถ้าหากนำน้ำหนักตัวผู้ป่วยมาคำนวณแล้วเกินกว่า 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) แปลว่าใช้ยาเกินขนาด จะทำให้มีความเสี่ยงต่อตับเช่นเดียวกับการใช้ยาพร่ำเพรื่อ

ใช้ยาทั้งที่ไม่มีอาการ

พบว่าบางรายมีการใช้ยาทั้งที่ไม่มีอาการ เช่น การกินยาดักไว้ก่อน เพื่อป้องกันอาการไข้ ทั้งที่ยังไม่มีไข้เกิดขึ้น ถือเป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา ทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้

อาการของการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด

อาการแสดงของการใช้ยาเกินขนาดจะแสดงใน 1-3 วัน มีทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เหงื่อออก เป็นระยะสั้น ๆ โดยจะเกิดภายใน 24 ชั่วโมง บางรายอาจไม่มีอาการ

ระยะที่ 2 หลังกินยาระหว่าง 24-48 ชั่วโมง ไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อเจาะเลือดจะพบว่าเอนไซม์ทรานซามิเนส (transaminase) เริ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่แสดงถึงการบาดเจ็บของตับ

ระยะที่ 3 หลังกินยาไปแล้ว 48 ชั่วโมง มีอาการตับอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารอีกครั้ง มีภาวะแทรกซ้อนเหมือนตับอักเสบทั่วไป หากรุนแรงอาจมีอาการสมองเสื่อมจากโรคตับ และเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาพาราเซตามอล

  • หากมีภาวะการทำงานของตับผิดปกติ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
  • ห้ามใช้ยากับคนที่แพ้ยาพาราเซตามอลเด็ดขาด อาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นขึ้น แน่นหน้าอก หายใจไมออก
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

การเก็บรักษายาพาราเซตามอล

  • เก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
  • เก็บให้พ้นแสงแดดและความร้อน อย่าให้อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส
  • เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • อย่าเก็บยาในที่ชื้น เพราะจะทำให้ยาเสื่อมสภาพ